The Grand Seiko Style. คุณค่าอันเป็นนิรันดร์และความงดงาม ตามแบบฉบับของชาวญี่ปุ่น
เรื่องราวเบื้องหลังการถือกำเนิดของรูปแบบ Grand Seiko Style
‘Grand Seiko Style’ (แกรนด์ ไซโก สไตล์) คือ ภาษาการออกแบบที่ยึดแนวคิดเรื่อง “ประกายแห่งคุณภาพ” เป็นศูนย์กลาง ซึ่งสะท้อนถึงคุณลักษณะสำคัญของ Grand Seiko อันได้แก่ ความแม่นยำ ความงดงาม ความชัดเจน และความสะดวกต่อการใช้งาน ออกมาอย่างเต็มที่ ทั้งยังแสดงถึงรูปแบบและการทำงานที่สอดคล้องต้องกันอย่างลงตัวเป็นที่สุด รูปแบบ ‘Grand Seiko Style’ ถูกพัฒนาขึ้นหลังจากที่เรือนเวลา Grand Seiko แบบแรกถูกสร้างขึ้นมาแล้ว 7 ปี เพราะในยุคแรกสุดนั้น Grand Seiko มุ่งเน้นไปที่ความแม่นยำของกลไกเป็นหลักโดยยังไม่ได้สร้างเอกลักษณ์ที่แท้จริงของนาฬิกาในแง่การออกแบบรูปลักษณ์ภายนอกขึ้นมา หัวหน้าทีมออกแบบได้ใช้เวลาหลายชั่วโมงอยู่ที่ร้าน ‘Wako’ (วาโก) ในกินซา ซึ่งเป็นย่านช้อปปิ้งขึ้นชื่อของโตเกียว เพื่อเฝ้าสังเกตปฏิกิริยาของผู้คนที่มีต่อนาฬิการูปแบบต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งทำให้เขาตระหนักรู้ว่า หากต้องการให้นาฬิกามีความโดดเด่นและสามารถดึงดูดสายตาได้ Grand Seiko จำเป็นต้องมีลักษณะเฉพาะตัว เขาเห็นว่าก้าวต่อไปของ Grand Seiko ก็คือ การออกแบบเรือนเวลาที่มีเหลี่ยมมุมคมชัดยิ่งขึ้นและมีพื้นผิวซึ่งสร้างเงาสะท้อนที่ปราศจากการบิดเบือน เพื่อให้เรือนเวลาเหล่านั้นแสดงให้เห็นถึง “ประกายแห่งคุณภาพ” สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว สีขาวและสีดำมักไม่ค่อยจะถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจน หากแต่มีการไล่ระดับระหว่างแสงและเงาให้เห็นอยู่เสมอ ลักษณะของเงาจึงเป็นที่ชื่นชมกันมากเท่า ๆ กับแสง และความกลมกลืนกันระหว่างทั้งสองก็เป็นสิ่งที่มีค่ายิ่งนัก การเล่นกับแสงและเงาบนพื้นผิวที่ได้รับการขัดเงาอย่างสมบูรณ์แบบจึงทำให้เกิดความกลมกลืนที่สวยงาม ปฏิสัมพันธ์เช่นนี้สามารถพบเห็นได้จากบานฉากกั้นพับได้แบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นและประตูบานเลื่อนแบบ ‘Shoji’ (โชจิ) แม้ว่าฉากกั้นและประตูเหล่านี้จะถูกสร้างขึ้นจากกระดาษและไม้โดยมีแนวเส้นตรงที่เรียบง่ายและมีพื้นผิวที่ราบเรียบ แต่การประสานระหว่างแสงและเงาซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาจะสร้างรูปแบบลักษณะที่ต่างกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุด นักออกแบบของ Grand Seiko มองเห็นสิ่งนี้อย่างชัดเจนและตัดสินใจว่าต่อจากนี้ไป แนวทางการออกแบบของเขาจะให้ความสนใจกับความงามของการไล่ระดับอันไม่มีที่สิ้นสุดเหล่านี้ Grand Seiko Style จึงถูกออกแบบมาเพื่อถ่ายทอดความงดงามตามรูปแบบของญี่ปุ่นอย่างแท้จริงโดยเน้นไปที่การนำเส้นตรงและพื้นผิวอันราบเรียบมาร่วมกันทำให้เกิดดีไซน์โครงสร้างที่พร้อมจะแสดงแสงและเงาอันไม่มีที่สิ้นสุดให้ทุกสายตาได้ประจักษ์
หลักการออกแบบ ประกอบด้วยหลัก 3 ประการ
พื้นฐานของแนวทางการออกแบบ Grand Seiko Style มีหลักการออกแบบอยู่ 3 ประการด้วยกัน ประการแรก คือ “การออกแบบให้มีพื้นผิวเรียบและมีส่วนโค้งแบบ 2 มิติโดยเน้นพื้นผิวอันราบเรียบเป็นสำคัญและโดยทั่วไปแล้วจะหลีกเลี่ยงส่วนโค้งแบบ 3 มิติ” โดยแทนที่จะใช้ผิวโค้งแบบ 3 มิติอย่างเช่นนาฬิกาทั่วไป รูปแบบ Grand Seiko Style กลับประกอบด้วยพื้นผิวที่เรียบและแนวขอบที่เฉียบคมซึ่งเกิดจากส่วนของรูปทรงแบบกรวย ลักษณะที่เปี่ยมไปด้วย “ประกายแห่งคุณภาพ” มาจากความแตกต่างระหว่างแสงและเงาที่พื้นผิวอันโดดเด่นเหล่านี้สร้างขึ้นมา หลักการที่สอง คือ “ทุกองค์ประกอบบนตัวเรือน หน้าปัด และเข็ม ควรมีพื้นผิวเรียบให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” เพื่อเน้นให้เห็นความแตกต่างระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ และเพิ่มความชัดเจนในการอ่านค่า องค์ประกอบโดยส่วนใหญ่ต้องมีพื้นผิวที่เรียบ และแนวเส้นบนตัวเรือน หน้าปัด และเข็มต่าง ๆ ต้องถูกเจียรให้มีหลายเหลี่ยม หลักการประการที่สาม คือ “พื้นที่ส่วนใหญ่ของพื้นผิวทั้งหมดควรขัดให้ขึ้นเงาดุจผิวกระจกเงาและให้ภาพสะท้อนที่เกิดการบิดเบือนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้” พื้นผิวดุจกระจกเงาเช่นนี้เพิ่มความต่างระหว่างแสงและเงาและทำให้นาฬิกามีประกายแวววาว การขัดเงาแบบกระจกเงาเช่นนี้เกิดขึ้นได้ด้วยเทคนิคการขัดแบบ ‘Zaratsu’ (ซารัตสึ) ซึ่งจะขัดพื้นผิวจนกระทั่งไร้ความบิดเบือนของเงาสะท้อน และทำให้แนวขอบของแนวผิวราบที่บรรจบกับระนาบเอียงมีความโดดเด่นและเกิดความคมชัดอย่างน่าประทับใจ อีกทั้งประกายแวววาวของเงาอันงดงามบนพื้นผิวแนวข้างของตัวเรือนกับแนวลาดของวงขอบตัวเรือนยังทำให้ตัวเรือนนาฬิกาดูบางลงเมื่ออยู่บนข้อมือด้วย ขนาดครึ่งหนึ่งของเม็ดมะยมจะถูกฝังไว้ในตัวเรือนเพื่อให้แนวด้านข้างของตัวเรือนดูกลมกลืนและทำให้สวมใส่ได้สบายและพอดีกับทุกขนาดข้อมือ
หลักการที่ 1
การออกแบบควรมีพื้นผิวที่เรียบและมีส่วนโค้งแบบ 2 มิติ นั่นหมายความว่าโดยทั่วไปแล้วจะไม่นำส่วนโค้งแบบ 3 มิติมาใช้
หลักการที่ 2
พื้นผิวเรียบของตัวเรือน หน้าปัด และเข็มนาฬิกา ควรมีความกว้างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
หลักการที่ 3
ทุกพื้นผิวควรมีลักษณะที่ปราศจากการบิดเบือนของภาพสะท้อนและมีพื้นผิวดุจกระจกเงา
9 องค์ประกอบการออกแบบที่เป็นไปตามหลักการออกแบบ 3 ประการ
ตามหลักการออกแบบทั้ง 3 ประการ รูปแบบ Grand Seiko Style จะมีองค์ประกอบที่แตกต่างกันถึง 9 องค์ประกอบซึ่งทำให้เรือนเวลา Grand Seiko แต่ละเรือนมีเสน่ห์เฉพาะตัวตามแบบฉบับของญี่ปุ่น องค์ประกอบทั้ง 9 นี้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ทุกรายละเอียดของเรือนเวลา ตั้งแต่มุมของตัวเรือนไปจนถึงรูปร่างของหลักชั่วโมงตำแหน่ง 12 นาฬิกาและความราบเรียบของหน้าปัด ด้วยการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนของนักออกแบบและการสร้างงานอันแสนประณีตเมื่อ 6 ทศวรรษที่แล้ว เรือนเวลา Grand Seiko ทุกเรือนจึงเปี่ยมด้วย “ประกายแห่งคุณภาพ” อันแสนพิเศษดังลักษณะที่ผู้สร้างสรรค์ตั้งใจเสมอมา ทุกแง่ทุกมุมของตัวเรือน เข็ม และหลักชั่วโมง ถูกออกแบบให้สะท้อนแสงได้อย่างงดงามไม่ว่าปริมาณลำแสงที่ตกกระทบจะน้อยนิดเพียงใด จึงก่อให้เกิดความงามที่ชัดเจนและมีลักษณะเฉพาะตัวซึ่งบ่งบอกว่า “นี่คือ Grand Seiko สุดยอดแห่งเรือนเวลาสำหรับการใช้งานตามวัตถุประสงค์ของนาฬิกา” หลักการแห่งความงดงามนี้ถูกบัญญัติขึ้นใน ค.ศ.1967 และยังคงเป็นแนวทางในการสร้างเรือนเวลา Grand Seiko มาจนถึงทุกวันนี้โดยได้รับการถ่ายทอดแก่นแท้แห่งหลักการจากรุ่นสู่รุ่นและมีการปรับปรุงอย่างพิถีพิถันให้เข้ากับยุคสมัยตามการผันเปลี่ยนของกาลเวลา ด้วยวิถีทางเช่นนี้ รูปแบบ Grand Seiko Style จึงได้รับการปรุงแต่งและธำรงไว้ซึ่งคุณค่าดั้งเดิมไปพร้อมกัน
1967
44GS เรือนเวลาแบบแรกที่เป็นศูนย์รวมแห่งแนวการดีไซน์แบบ Grand Seiko Style
ผลงานชิ้นเอกจากช่างฝีมือชั้นเลิศ
Grand Seiko 44GS ที่ถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ.1967 เป็นเรือนเวลาแบบแรกที่สถาปนาลักษณะการดีไซน์แบบ Grand Seiko Style ขึ้นมา รูปทรงของตัวเรือนถูกออกแบบขึ้นใหม่ทั้งหมด พื้นผิวเรียบบนฝั่งด้านหน้าได้รับการขัดเงาจนปราศจากความบิดเบือนของภาพสะท้อนด้วยเทคนิคการขัดเงาแบบ Zaratsu แนวข้างของตัวเรือนเอียงลาดสู่ด้านล่างอย่างเฉียบคมทำให้วางแนบลงบนข้อมือได้อย่างสวยงามด้วยลักษณะที่ไม่ซ้ำใคร และบางส่วนของเม็ดมะยมได้ถูกฝังลึกเข้าไปในตัวเรือนเพื่อรักษาความงดงามของเส้นสายอันเฉียบคมนี้ นักออกแบบของ Grand Seiko ได้นำแนวทางการออกแบบและตกแต่งในลักษณะนี้ไปใช้กับทุกรายละเอียดเพื่อสร้างผลงานชิ้นแรกแห่งแนวการดีไซน์แบบ Grand Seiko Style ขึ้นมา เขาสร้างเข็มและชิ้นหลักชั่วโมงให้มีพื้นผิวแบบหลายเหลี่ยมมุมเพื่อเล่นกับแสงที่ส่องผ่านลงมายังหน้าปัดนาฬิกา และเขายังสร้างขอบตัวเรือนที่ขัดผิวให้เงาวาวดุจกระจกเงาขึ้นมา ดีไซน์ในภาพรวมจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งความคมชัด ประกายอันงดงาม และการผสมผสานอย่างกลมกลืนแห่งแสงและเงา 44 GS จึงเป็นเรือนเวลาที่ทำให้ Grand Seiko ค้นพบแนวทางการออกแบบของตนเอง และทำให้หนึ่งตำนานสำคัญของ Grand Seiko ถือกำเนิดขึ้น
44GS, 1967
44GS เป็นนาฬิกา Grand Seiko แบบแรกที่ผลิตโดยโรงงาน ‘Daini Seikosha’ (ไดนิ ไซโกฉะ)
แนวทางการออกแบบที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยเส้นสายที่คมชัดและ “ประกายแห่งคุณภาพ”
แสง เงา และเส้นสายที่เข้มแข็ง องค์ประกอบทั้ง 3 นี้เป็นรากฐานสำคัญของแนวการดีไซน์แบบ Grand Seiko Style แต่ก่อนที่จะเกิดแนวทางเช่นนี้ขึ้นมาได้นั้น ความแม่นยำในการผลิตในระดับที่สูงกว่าเดิมจะต้องเกิดขึ้นก่อนซึ่งก็เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิธีวัดขนาดนั่นเอง เดิมทีนั้น Seiko เคยใช้หน่วยวัดพิเศษที่เรียกว่า “ลีน” ซึ่งเป็นมาตรฐานหลักสำหรับการวัดขนาดในอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกา แต่ใน ค.ศ.1961 Seiko ได้เริ่มนำหน่วย “มิลลิเมตร” มาใช้เป็นพื้นฐานในการวัดขนาดแทน การทำเช่นนี้ส่งผลให้หน่วยการวัดขั้นต่ำเปลี่ยนจาก 1/4 ลีน (ประมาณ 0.56 มิลลิเมตร) มาเป็น 0.1 มิลลิเมตร ซึ่งทำให้การออกแบบตัวเรือนและชิ้นส่วนภายนอกของนาฬิกามีความแม่นยำยิ่งขึ้น การเปลี่ยนมาตรฐานหน่วยมิติเช่นนี้ช่วยทำให้แนวการดีไซน์แบบ Grand Seiko Style ที่นำผิวเรียบและเส้นตรงมาบรรจบกันอย่างงดงามถูกสร้างขึ้นมาได้จริงเพราะการจะได้มาซึ่งลักษณะเช่นนี้จำเป็นต้องใช้ความแม่นยำในการผลิตเป็นอย่างมาก อีกทั้งการสร้างชิ้นงานเช่นนี้ยังต้องใช้ทักษะในระดับที่สูงขึ้นจากเหล่าช่างฝีมือทั้งชายและหญิงของ Grand Seiko เพราะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการสร้างวัสดุให้มีความงดงามตามที่ออกแบบ ทั้งส่วนโค้งที่สง่างามบริเวณด้านข้างของตัวเรือน ตลอดจนชิ้นหลักชั่วโมงและเข็มที่ตัดเจียรให้มีหลายเหลี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเทคนิคการขัดเงาแบบ Zaratsu ซึ่งต้องใช้ความไวต่อความรู้สึกที่ปลายนิ้วเพื่อทำการปรับความร้อน การสั่นสะท้าน และการลดทอน ต่อชิ้นวัสดุที่ทำการขัดเงาในขณะเดียวกันจนกว่าจะได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ในสมัยนั้นกล่าวกันว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปีเลยทีเดียวกว่าจะมีความเชี่ยวชาญในเทคนิคนี้โดยสมบูรณ์ และการใช้เทคนิคเช่นนี้ก็แสดงให้เห็นถึงการลงทุนครั้งใหญ่ในด้านของทักษะและจำนวนของช่างฝีมือ
2013
การตีความแบบสมัยใหม่ของ 44GS
นำพาการประดิษฐ์เรือนเวลาแบบดั้งเดิมสู่อีกระดับทางศิลปะ
ใน ค.ศ.2013 การตีความแบบสมัยใหม่ให้กับ 44GS จาก ค.ศ.1967 ได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยเรือนเวลาที่ขับเคลื่อนด้วยคาลิเบอร์ 9S65 ที่สำรองพลังงานได้ 55 ชั่วโมงซึ่งมองเห็นได้จากฝาหลังชนิดกรุกระจกใส ในปีถัดมา รูปแบบที่ 2 ก็ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยหนนี้มาพร้อมกับกลไกความถี่สูงฟังก์ชั่น ‘GMT’ (จีเอ็มที) คาลิเบอร์ 9S86 ตัวเรือนรูปแบบใหม่นี้เป็นที่รับรู้กันในทันทีว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเรือนดั้งเดิมสมัย ค.ศ.1967 และมีลักษณะที่ตรงตามแนวทางการออกแบบของ 44GS แทบทุกประการโดยนำเสนอด้วยพื้นผิวขัดเงาวาว ปราศจากการบิดเบือนของภาพสะท้อน และให้ความสบายบนข้อมือได้อย่างสมบูรณ์แบบ ความสวยงามของหน้าปัดช่วยเสริมความเรียบง่ายของตัวเรือนให้โดดเด่นยิ่งขึ้น รูปแบบแนวรัศมีที่ละเอียดงดงามบนหน้าปัดได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวร่องเขาแห่งภูเขาอิวาเตะ ภูเขาที่มองเห็นได้จากหน้าต่างบานใหญ่ของสตูดิโออันเป็นสถานที่ซึ่งเรือนเวลาชนิดจักรกลทุกเรือนของ Grand Seiko ถูกออกแบบ ผลิต และประกอบขึ้นด้วยมือโดยช่างฝีมือทั้งชายและหญิงของสตูดิโอแห่งนี้ ความงดงามตามธรรมชาติแห่งที่ตั้งสตูดิโอซึ่งอยู่บนเนินเขาทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นใกล้กับเมืองโมริโอกะจึงเป็นทั้งแรงบันดาลใจและความภาคภูมิใจของเหล่านักประดิษฐ์เรือนเวลาแห่ง Grand Seiko
SBGJ005 (คาลิเบอร์ 9S86) ค.ศ.2014
ณ การประกาศรางวัล ‘Grand Prix d’Horlogerie de Genève’ (กรังด์ ปรีซ์ ดอโลเฌรี เดอ เฌอแนฟ) ประจำปี 2014 เรือนเวลา ลิมิเต็ด เอดิชั่น ผลิตจำนวนจำกัด ‘Hi-Beat 36000’ (ไฮ-บีท 36000) ซึ่งมีโรเตอร์สีทองสุดพิเศษที่เคลือบด้วยกระบวนการ ‘Anodic Oxidation’ (อนอดิก ออกซิเดชั่น) ได้รับรางวัลในสาขา ‘Petite Aiguille’ (เปอติต อายกิลล์) (กลไกที่แสดงอยู่ในภาพเป็นแบบสเปกปกติ)