ตอนที่ 7
วิวัฒนาการของระบบขึ้นลานอัตโนมัติอันทรงประสิทธิภาพของกลไกสปริงไดรฟ์ 9R
สำหรับนาฬิการะบบอัตโนมัติแล้ว การสำรองพลังงานมักถูกคำนึงถึงว่าเป็นคุณสมบัติทางเทคนิคที่สำคัญซึ่งช่วยให้เกิดความสะดวกในการใช้งาน และความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น แต่ถ้าหากกลไกนาฬิกาไม่สามารถขึ้นลานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การสำรองพลังงานได้อย่างยาวนานก็อาจไม่มีประโยชน์
ในการถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกของกลไกคาลิเบอร์ 9R นั้น Grand Seiko ตระหนักดีว่า ประสิทธิภาพระดับสูงทั้งในแง่ของการทำงานและการใช้งานได้ง่ายเป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ คาลิเบอร์ 9R65 จึงมากับพลังงานสำรองที่ยาวนานถึง 72 ชั่วโมง ทั้งยังมากับระบบขึ้นลานอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะขึ้นลานได้อย่างรวดเร็วด้วยการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของผู้สวมใส่
ระบบกลไกแมจิก เลเวอร์ ที่ ซูวะ ไซโกฉะ (ปัจจุบัน คือ บริษัท ไซโก เอปสัน) พัฒนาขึ้นใน ค.ศ.1959 ถือเป็นหนึ่งในระบบกลไกขึ้นลานอัตโนมัติที่มีชื่อเสียงที่สุดในวงการการผลิตนาฬิกา เพราะสามารถยืนหยัดผ่านการทดสอบของกาลเวลามาได้อย่างยาวนานด้วยประสิทธิภาพของกลไก ความเรียบง่ายของกลไก และใช้จำนวนชิ้นส่วนที่ค่อนข้างน้อย ระบบกลไกนี้ใช้ระบบคันโยกแบบพาวล์-เลเวอร์ เพื่อให้มั่นใจว่าสปริงลานจะถูกขึ้นลานได้ไมว่าตัวถ่วงน้ำหนักจะแกว่งหมุนไปในทิศทางใด ระบบกลไกนี้ถูกนำมาใช้ในนาฬิกากลไกอัตโนมัติบางรุ่นของ Grand Seiko ตั้งแต่ทศวรรษ1960s ซึ่งรวมถึงรุ่น 62GS และ 61GS ด้วย
กลไกสปริงไดรฟ์ 9R คาลิเบอร์แรกซึ่งเปิดตัวใน ค.ศ.2004 ก็ใช้ระบบกลไกแมจิก เลเวอร์ ด้วยเช่นกัน โดยมีการปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างมีนัยสำคัญ เวอร์ชั่นของระบบกลไกแมจิก เลเวอร์ ที่อยู่ในคาลิเบอร์ 9R65 นั้นมีประสิทธิภาพและให้การตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวแขนของผู้สวมใส่ได้ดีกว่าระบบที่ใช้กับกลไกรุ่นก่อน ๆ ทั้งนี้ก็เพราะในศตวรรษที่ 21 นั้น มีเทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่าง ๆ มากมายที่ทำให้ชีวิตของผู้คนสะดวกสบายขึ้น ส่งผลให้การขยับแขนในชีวิตประจำวันดูจะน้อยลงกว่าในยุคทศวรรษที่ 50s และ 60s ความยืดหยุ่นของแขนคันโยกพาวล์-เลเวอร์ และระยะการเคลื่อนขยับเมื่อตัวถ่วงน้ำหนักแกว่งหมุน ของคาลิเบอร์ 9R65 จึงถูกทบทวนคิดค้นขึ้นใหม่ตั้งแต่พื้นฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
แมจิก เลเวอร์ ได้รับการปรับปรุงอีกครั้งในซีรี่ส์กลไก 9RA ซึ่งเป็นเจเนอเรชั่นล่าสุดของกลไกอัตโนมัติ 9R โดยสำหรับ 9RA นั้น ความต้องการหลายสิ่งอย่างในการออกแบบและประสิทธิภาพทำให้จำเป็นต้องปรับปรุงระบบขึ้นลานใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องดีงามที่ระบบแมจิก เลเวอร์ นั้นสามารถดัดแปลงให้ดียิ่งขึ้นได้ กลไกซีรี่ส์ 9RA นี้ใช้ตลับลาน 2 ชุดที่มีขนาดต่างกัน โดยแต่ละตลับจะบรรจุสปริงลานที่ต้องถูกขึ้นลานเอาไว้ และรูปร่างของฟันบนเฟืองต่าง ๆ ของระบบกลไกขึ้นลานอัตโนมัติก็ได้รับการปรับปรุงเพื่อให้การขึ้นลานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
การพยายามทำให้กลไกโดยรวมมีขนาดบางลงนั้นจำเป็นต้องใช้แนวทางใหม่ ๆ ในการออกแบบกลไก ซึ่งก็รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนประกอบต่าง ๆ ด้วย แมจิก เลเวอร์ ที่จัดวางล้อข้อเหวี่ยงให้เหลื่อมออกจากจุดศูนย์กลางของกลไกจึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อลดจำนวนของชิ้นส่วนที่วางตำแหน่งทับซ้อนกัน ออฟเซ็ต แมจิก เลเวอร์ นี้ช่วยทำให้คาลิเบอร์ 9RA2 มีความหนาอย่างน่าประทับใจเพียง 5 มิลลิเมตร ซึ่งบางกว่าคาลิเบอร์ 9R65 ถึง 0.8 มิลลิเมตร ในขณะที่ให้พลังงานสำรองได้นานถึง 5 วัน ซึ่งมากกว่าพลังงานสำรอง 3 วันของคาลิเบอร์ 9R65
ความท้าทายในเรื่องการสำรองพลังงาน การตกแต่ง และขนาด เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนากลไกสปริงไดรฟ์ 9R ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา การเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ถือเป็นเรื่องสำคัญในการคิดค้นและวิวัฒนาการกลไกซีรี่ส์นี้ซึ่งเป็นซีรี่ส์กลไกของ Grand Seiko และการแสวงหาประสิทธิภาพการขึ้นลานที่ยอดเยี่ยมก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยการแสวงหาในเรื่องนี้เกิดขึ้นได้ด้วยวิวัฒนาการของระบบกลไกที่เรียบง่ายแต่แสนชาญฉลาดที่ถูกสร้างขึ้นใน ค.ศ.1959