Chapter 6
ความแม่นยำระดับสูงพิเศษของกลไกสปริงไดรฟ์ 9R
ความแม่นยำถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในนาฬิกาข้อมือทุกเรือนของ Grand Seiko และก็เป็นเช่นนั้นมาโดยตลอด ไม่ว่ากลไกในนาฬิกาเรือนนั้น ๆ จะเป็นชนิดจักรกล ชนิดควอตซ์ หรือชนิดสปริงไดรฟ์ ก็ตาม
คณะทำงานที่รับผิดชอบในการสร้างนาฬิกาแบบแรกของ Grand Seiko มุ่งมั่นที่จะผลิตนาฬิกาที่ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาจะทำได้ โดยพวกเขาได้ตั้งโจทย์ความแม่นยำสูงเป็นเป้าหมายสำคัญสำหรับภารกิจของพวกเขา เพื่อสร้างนาฬิกาในอุดมคติที่เหมาะสำหรับการสวมใส่ใช้งานในชีวิตประจำวันขึ้นมาให้จงได้
ความทะเยอทะยานอย่างยิ่งยวด คือ ความฝันที่นำไปสู่กลไกชนิดสปริงไดรฟ์ โดยเป็นความมุ่งมั่นในการสร้างกลไกแบบขับเคลื่อนด้วยสปริงลานที่สามารถให้ความแม่นยำในการควบคุมเวลาได้ในระดับเดียวกับเครื่องบอกเวลาชนิดอิเล็กทรอนิก ซึ่งหากมองย้อนกลับไปแล้ว การพัฒนาของกลไกชนิดสปริงไดรฟ์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในประวัติศาสตร์การสร้างนาฬิกา และมีบทบาทสำคัญในวิถีทางของ Grand Seiko กลไกสปริงไดรฟ์ มีความแม่นยำมากกว่านาฬิกากลไกจักรกลแบบเดิมที่ใช้จักรกลอกในการควบคุมเวลาถึง 10 เท่า แต่องค์ประกอบของโครงสร้างกลไกสปริงไดรฟ์ เช่น สปริงลาน ขบวนเฟือง สะพานจักร และโรเตอร์ถ่วงน้ำหนัก ก็น่าจะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยสำหรับนักประดิษฐ์นาฬิกาแบบคลาสสิกดั้งเดิมจากยุคก่อนกันอยู่แล้ว
ก่อนจะเกิดกลไกสปริงไดรฟ์ 9R ขึ้นมานั้น Grand Seiko ก็ได้มุ่งมั่นในการพัฒนาความแม่นยำ ความชัดเจนในการอ่านค่า ความงดงาม และความทนทาน ให้กับนาฬิกาของตนกันอยู่แล้ว ในการพัฒนากลไกสปริงไดรฟ์ 9R นั้น Grand Seiko ได้เล็งเห็นถึงอนาคตของการประดิษฐ์นาฬิกาที่ซึ่งรูปแบบดั้งเดิมและนวัตกรรมใหม่สามารถอยู่ร่วมกันในกลไกเดียวกันได้ วิสัยทัศน์นี้ คือ การมีลักษณะของทั้งสองอยู่ในตัว โดยกลไกนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากสปริงลานในรูปแบบดั้งเดิม แต่ถูกควบคุมความแม่นยำด้วยวงจรรวมและการสั่นผลึกคริสตัลที่มีความแม่นยำสูงมาก ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามกันของศาสตร์ความรู้ในการสร้างกลไกนาฬิกา การผสมผสาน 2 สิ่งนี้เข้าด้วยกันในกลไกสปริงไดรฟ์ ได้ทำให้เกิดผลผลิตที่มีลักษณะเฉพาะตัวไม่เหมือนใครและน่าดึงดูดใจอย่างยิ่งขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถกระทำได้ด้วยการมีความเชี่ยวชาญในการสร้างนาฬิกาทุกประเภทเท่านั้น
วงจรรวมและการสั่นผลึกคริสตัลที่ใช้ในกลไกสปริงไดรฟ์ ถูกพัฒนาและผลิตขึ้นด้วยตนเองในแบบที่เรียกว่า อินเฮาส์ ที่โรงงานไซโก เอปสัน และการสร้างกลไกชนิดนี้ก็ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากไม่ได้ใช้แบตเตอรี่ แต่มีแค่สปริงลานเท่านั้น ชิ้นส่วนเหล่านี้จึงต้องใช้พลังงานอย่างประหยัด ไม่ว่ากลไกสปริงไดรฟ์จะมีความแม่นยำเพียงใด หากวงจรรวมใช้พลังงานเร็วมากเกินไป นาฬิกาก็จะไม่มีพลังงานสำรองยาวนานในระดับที่ Grand Seiko คาดหวังไว้ ในกลไกคาลิเบอร์ 9R65 ซึ่งเป็นกลไกสปริงไดรฟ์ คาลิเบอร์แรกของ Grand Seiko นั้น วงจรรวมจะใช้พลังงานต่ำเพียง 25 นาโนวัตต์ ซึ่งเท่ากับ 1 เปอร์เซ็นต์ของพลังงานที่ต้องใช้ในกลไกต้นแบบซึ่งถูกสร้างขึ้นในการพัฒนาเฟสแรกในช่วงทศวรรษที่ 1980s ด้วยพลังงานสำรอง 72 ชั่วโมงที่เกิดขึ้นได้จากการใช้วงจรรวมที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับใช้ในคาลิเบอร์ 9R65 ทำให้ในที่สุด กลไกสปริงไดรฟ์ ก็พร้อมที่จะใช้สำหรับขับเคลื่อนนาฬิกา Grand Seiko ใน ค.ศ.2004
Grand Seiko สปริงไดรฟ์ 9R สามารถเอาชนะความท้าทายโดยทั่วไปที่มักเกิดขึ้นกับนาฬิกากลไกจักรกลล้วนได้เกือบทั้งหมด อันได้แก่ ความอ่อนไหวต่ออิทธิพลของอุณหภูมิ ตำแหน่ง และแรงกระแทก ยิ่งไปกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงของปริมาณแรงบิดเมื่อสปริงลานคลายตัวในนาฬิกากลไกจักรกลทั่วไปจะส่งผลให้แอมพลิจูดในการแกว่งของจักรกลอกเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งส่งผลต่อความแม่นยำ ในทางตรงกันข้าม นาฬิกากลไกสปริงไดรฟ์ จะยังคงรักษาความแม่นยำในระดับสูงไว้ได้ตลอดระยะเวลาของปริมาณพลังงานสำรองที่มีอยู่ ซึ่งในกลไก 9R65 นั้นกระทำได้ถึง 72 ชั่วโมง
ในช่วงหลายปีที่ล่วงผ่าน นับตั้งแต่พัฒนาคาลิเบอร์ 9R65 ขึ้นมา ซึ่งเป็นกลไกที่มีความแม่นยำถึง ±15 วินาทีต่อเดือน ก็เกิดบรรดากลไกสปริงไดรฟ์ 9R ที่มีความแม่นยำสูงยิ่งกว่าขึ้นมาอีก ด้วยความแม่นยำสูงถึง ±10 วินาที โดยก่อนหน้านี้ถูกจำกัดอยู่เฉพาะคาลิเบอร์ 9R01 จากผลงานการสร้างของ ไมโคร อาร์ติสต์ สตูดิโอ และกลไกที่ได้รับการปรับตั้งมาเป็นพิเศษ เช่น 9R15 9R16 และ 9R96 เป็นต้น
วงจรรวมที่ถูกพัฒนาขึ้นมาใหม่สำหรับกลไกซีรี่ส์ 9RA ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกใน ค.ศ.2020 นั้นมอบความแม่นยำในระดับ ±10 วินาทีต่อเดือนได้ด้วยเช่นกัน วงจรรวมชิ้นใหม่นี้มีเซ็นเซอร์จับอุณหภูมิติดตั้งอยู่ด้วย และใช้พลังงานมากกว่าวงจรรวมที่ใช้กับ 9R65 ดังนั้นเพื่อบรรเทาการเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้พลังงาน ดีไซน์และกระบวนการผลิตของวงจรรวมจึงถูกออกแบบสร้างขึ้นมาใหม่ โดยเป็นการจัดวางวงจรรวมและผลึกคริสตัลที่ผ่านการบ่มเป็นเวลา 90 วันไว้ในบรรจุภัณฑ์สุญญากาศชิ้นเดียว ซึ่งช่วยขจัดความแตกต่างของอุณหภูมิระหว่างเซ็นเซอร์จับอุณหภูมิและผลึกคริสตัลที่ถูกสั่น ทำให้สามารถปรับตั้งอุณหภูมิให้มีความแม่นยำอย่างสูงได้ นอกจากนี้ โครงสร้างเช่นนี้ยังป้องกันไม่ให้อิทธิพลอื่น ๆ จากภายนอก อย่างเช่น ไฟฟ้าสถิต ความชื้น หรือแสง มาส่งผลต่อความแม่นยำได้อีกด้วย
ชิ้นส่วนเหล่านี้ทำหน้าที่ของตนได้อย่างน่าทึ่งโดยซ่อนตัวไว้ไม่ให้มองเห็นได้ด้วยการวางตำแหน่งไว้ใต้สะพานจักรที่ถูกตกแต่งมาอย่างประณีต เช่นเดียวกันกับกลไก 9R คาลิเบอร์อื่น ๆ ที่วงจรรวมและผลึกคริสตัลถูกซ่อนเอาไว้อย่างสมบูรณ์ การครอบครองเป็นเจ้าของและสวมใส่นาฬิกาสปริงไดรฟ์ คาลิเบอร์ 9R จะทำให้ได้สัมผัสกับความสวยงามและความซับซ้อนอันน่าทึ่งในลักษณะของนาฬิกากลไกจักรกลแบบดั้งเดิม และความเป็นเลิศอื่น ๆ อีกมากมาย